ท่องเที่ยว

เที่ยวไหนกันดี...

ครั้งหนึ่งที่ศรีลังกา...อายุบวร




• ประเทศศรีลังกา
 เป็นเกาะเล็กๆ รูปร่างคล้ายไข่มุก หรือลูกแพร์ ที่มีความหมายทั้งทางการค้าและทางยุทธศาสตร์เลื่องชื่อทั้งด้านสวยงามและความล้ำเลิศแห่งเพชรพลอย เป็นเมืองในฝันของผู้ที่ยังไม่เคยได้เยือนและเป็นเมืองที่มีเสน่ห์ล้ำลึกสำหรับผู้ได้พบเห็น ตำนานและประวัติศาสตร์อันบอกเล่าเกี่ยวกับดินแดนแห่งนี้ เต็มไปด้วยความลึกลับน่าพิศวงและน่าศึกษาเป็นอย่างยิ่ง ประเทศศรีลังกาเป็นประเทศที่มีทัศนียภาพสวยงามมาก เป็นประเทศที่มีป่าไม้แน่นหนาเขียวขจีและมีน้ำตกมากมาย จนเป็นดินแดนที่มีน้ำตกที่สูงติดอันดับโลก ได้แก่ น้ำตกดิยาลูมา น้ำตกกูรุนโอยา น้ำตกรัตนเอลล่า น้ำตกรัมโบดา และน้ำตกอื่นๆ ที่สวยงามนับหมื่นแห่ง
• สำหรับคนไทย ศรีลังกาเป็นเหมือนญาติสนิท รักและอนุเคราะห์ซึ่งกันและกันมาตั้งแต่โบราณกาลจวบจนปัจจุบัน โดยมีพระพุทธศาสนาเป็นสื่อสัมพันธ์ ประวัติศาสตร์ไม่เคยพาดพิงถึงความบาดหมางของชาติทั้งสองนี้เลย และเพราะด้วยความสัมพันธ์ทางศาสนาของทั้งสองประเทศซึ่งไม่เคยขาดตอนนี้เอง ทั้งศรีลังกาและไทย จึงกลายเป็นดินแดนดำรงพระพุทธศาสนาไว้ได้อย่างเด็ดเดี่ยว เป็นที่พึ่งของชาวพุทธทั่วโลกไม่มีที่ใดเสมอเหมือน
• ประเทศศรีลังกามีชื่อเรียกมากมาย เนื่องจากมีประวัติอันยาวนาน สำหรับคนไทยเรานั้น คุ้นเคยกับชื่อ “ลังกา” และ “ลงกา” เนื่องมาจากความสัมพันธ์ด้านศาสนาของประเทศและจากวรรณคดีโบราณเรื่องรามเกียรติ์ ซึ่งแพร่หลายในประเทศไทย มีความตอนหนึ่งเล่าว่า เจ้าเมืองอโยธยาซึ่งปัจจุบันคือเมืองโอธ (Oudh) มีโอรสองค์หนึ่งพระนามว่า ราม ผู้ซึ่งต่อมาได้อภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงสีดา ภายหลังเกิดเหตุการณ์ที่เป็นเหตุให้พระราม และพระนางสีดาต้องถูกเนรเทศออกจากพระนคร ให้ไปอยู่กลางป่าในอินเดียตอนกลาง มาวันหนึ่งกษัตริย์ของพวกยักษ์ชื่อราวณะ (ทศกรรณฐ์) ซึ่งปกครองเมืองลังกา หรือลงกาปุระ ได้มาแย่งเอาพระนางสีดาไปจากพระรามพาไปเมืองลงกา เป็นเหตุให้เกิดการสู้รบแย่งพระนางสีดาที่เมืองลังกา ผลที่สุด เมืองลังกาถูกหนุมานเผาวอดวายในสงครามครั้งนั้น ไทยเราเรียกเหตุการณ์ตอนนั้นว่า “หนุมานเผากรุงลงกา”
• ชื่อประเทศศรีลังกาในอดีตนั้น มีความเป็นมาตั้งแต่แรกเริ่ม 10 ชื่อด้วยกันคือ คือ
1.โอชทวี หรือ โอชทีป : เป็นชื่อปรากฎในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา ระบุว่า ในสมัยของพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่ากกุสันโธ (พระพุทธเจ้าองค์ที่ 1 ในภัทรกัปนี้) เกาะลังกาเคยมีชื่อว่าโอชทวีป
2.วรทวีป หรือ วรทีป : เป็นชื่อเรียกในสมัยพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่าโกนาคมนะ (พระพุทธเจ้าองค์ที่ 2 แห่งภัทรกัปนี้)
3.มัณฑทวีป หรือ มัณฑทีป : เป็นชื่อเรียกในสมัยพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่ากัสสป (พระพุทธเจ้าองค์ที่ 3 แห่งภัทรกัปนี้)
4.สิงหล : ชื่อนี้เป็นภาษาสันสกฤต เรียกเป็นบาลีว่า สีหล และนิยมเรียกเต็มว่า สิงหลทวีป หรือ สีหลทวีป คำว่า “สิงหล”หรือสีหล แปลว่า ราชสีห์หรือสิงโต
• ก่อนจะมาเป็นชื่อสิงหล มีเรื่องเล่าวว่า มีกษัตริย์องค์หนึ่งของชาววังกะในเบงกอล ทรงมีราชธิดาที่ได้โอรสและธิดาเป็นฝาแฝด ซึ่งโอรสธิดาคู่นี้มีรูปร่างเป็นครึ่งมนุษย์ครึ่งสิงห์โต โอรสนั้นเมื่อแต่งงานมีบุตรเป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์ เพียงแต่มีมือและใหญ่โตเหมือนเท้าสิงห์โต ก็เลยได้นามว่า “สิงหพาหุ” ครั้นเจริญวัยขึ้น สิงหพาหุได้ฆ่าบิดาของตน ไปตั้งอาณาจักรใหม่ในอินเดีย สมรสกับน้องสาวตัวเองชื่อ สิงหวลี ได้บุตรคนหนึ่งชื่อวิชัย ต่อมาเจ้าชายวิชัยนี้ถูกเนรเทศออกจากเมืองเนื่องจากมีนิสัยมุทะลุดุดัน ได้พาบริวารเดินทางโดยเรือไปยังเกาะลังกา
• ที่เกาะลังกานั้น เจ้าชายวิชัยได้สมรสกับเจ้าหญิงชาวพื้นเมืองซึ่งเป็นชนเผ่ายักษ์ ได้เจ้าหญิงองค์นี้เองเป็นกำลังปราบพวกยักษ์ยึดครองเกาะลังกา ตั้งตนเป็นกษัตริย์องค์แรกของเกาะ และกษัตริย์องค์นี้ถือว่าตนเองสืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษสิงห์โต จึงเรียกแผ่นดินที่ยึดครองนี้ว่า สิงหลทวีป
5.ตัมพปัณณิ หรือ ตัมพปาณี (Tambapanni) : คำนี้เรียกเต็มว่า ตัมพปัณณิทวีป แปลว่า เกาะของชาวฝ่ามือแดง (ดัมพ แปลว่า แดง, ปัณริหรือปาณี แปลว่า ฝ่ามือ) มีตำนานเล่าว่า เมื่อเจ้าชายวิชัยพาบริวารไปถึงฝั่งลังกา ต่างก็พากันนั่งเอามือเท้าพื้นดินตรงนั้นซึ่งเป็นดินสีแดง ทำให้ฝ่ามือของทุกคนแดงไปตามสีของดิน เลยพากันเรียกตรงนั้นว่า ตัมพปัณณิ เรื่อยมา เป็นที่ซึ่งอยู่บนฝั่งทะเลด้านทิศตะวันตก หรือตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะลังกา และชื่อของที่ตำบลนั้นเองกลายมาเป็นชื่อของเกาะทั้งเกาะในเวลาต่อมา
6.อีลาม (Elam) : ชื่อนี้เป็นภาษาทมิฬ และในภาษาสิงหลแท้ๆ นั้นเคยใช้คำว่า เอะลุ ซึ่งเรียกเพี้ยนมาจากคำว่าสิงหลนั่นเอง
7.ซีเรนติบ หรือ เซเรนติบ (Serendib) : เป็นคำเรียกในภาษาอาหรับ ซึ่งนักเดินเรือใช้กัน คำว่า ซีเรนหรือ เซเรน มาจากคำว่า สิงหล และ ดิน (ทวีปหรือทีป)
8.ลังกา หรือ ลังกาทวีป : คำว่าทวีปเป็นภาษาสันสกฤต ตรงกับคำว่า ทีป ในภาษาบาลี แปลว่าเกาะ ซึ่งคำว่า ลังกา แปลว่า เกาะ อยู่แล้ว เมื่อมีคำว่าทวีปเพิ่มเข้ามาอีก แปลว่า เกาะลังกา ทำให้กลายเป็นชื่อเฉพาะขึ้นมา
9.ซีลอน (Ceylon) : ในภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศสนั้น รู้จักประเทศศรีลังกาในนามว่า ซีลอน ซึ่งเคยใช้ชื่อนี้เป็นชื่อทางราชการในสมัยที่ศรีลังกาปกครองโดยอังกฤษ คำว่า ซีลอน มาจากคำว่า สิงหลหรือสีหล (ชาวโปรตุเกสและฮอลันดาออกเสียงซีลอนว่า ซีลลาโอ)
10.ศรีลังกา (Sri Lanka) : ชื่อนี้ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2515 ภายหลังได้รับเอกราชจากอังกฤษ 24 ปี คำว่า “ศรีลังกา” หมายถึง แผ่นดินแห่งความรุ่งโรจน์ โดยเพิ่มคำว่า “ศรี” เข้าไปอีกคำหนึ่งเป็น “ศรีลังกา” ส่วนชื่อเป็นภาษาราชการในปัจจุบันมีคำเต็มว่า สาธารรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตย (The Democractic Socialist Republic of Sri Lanka)
• ความเป็นมาของชื่อประเทศศรีลังกานั้น ได้บ่งบอกความเป็นมาของศรีลังกาทั้งด้านตำนานและประวัติศาสตร์อย่างลึกซึ้ง ทำให้มองเห็นความเจริญ ความเสื่อมและวิวัฒนาการของศรีลังกาในยุคต่างๆ ได้พอสมควร ทำให้เห็นว่า เกาะลังกาแห่งนี้เป็นเกาะแห่งความยิ่งใหญ่สมนามแต่ละยุคแต่ละสมัยอย่างแท้จริง
• ความยิ่งใหญ่ของเกาะลังกานั้น นอกจากยิ่งใหญ่ในด้านเกียรติภูมิแล้ว ยังได้ชื่อว่าเป็นจุดเด่นทางยุทธศาสตร์ที่ชาวตะวันตกหวังยึดครอง เพื่อสร้างอำนาจให้แก่ตัวเอง นอกจากนั้น เกาะแห่งนี้ยังอุดมสมบูรณืด้วยเพชรพลอยล้ำค่า จนได้นามว่า รัตนทวีป อีกชื่อหนึ่งด้วย
• ชนเผ่าศรีลังกา
• ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์สมัยโบราณ ชนชาติเดิมของศรีลังกามีอยู่ 2 เผ่าคือ เผ่านาค กับ เผ่ายักษ์
1.ชนเผ่านาค คือ พวกบูชางูเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เมื่อครั้งชาวอารยันเข้าไปตั้งถิ่นฐานในอินเดียนั้น ชนเผ่านาคได้ไปอยู่รวมกันหนาแน่นทางภาคตะวันออกของเกาะ อีกส่วนหนึ่งไปอยู่อาศัยรวมกันทางภาคเหนือของเกาะ จนทำให้ดินแดนส่วนนั้นได้นามว่า นาคทีป ซึ่งแปลว่า เกาะนาค สมัยที่พระเจ้าวิชัย ปฐมกษัตริย์ของศรลังกาเสด็จไปถึงนั้น พวกนาคได้เสื่อมอำนาจและถูกกลืนหายไปในที่สุด พวกนี้เองเมื่อผสมกับชาวอารยัน ก็ได้กลายมาเป็น ชาวสิงหล
2.ชนเผ่ายักษ์ คือ พวกบูชายักษ์เป็นเทพเจ้า หรือพวกดราวิเดี่ยน หรือ มิลักขณะ เป็นเผ่าที่มีอิทธิพลมากกว่าเผ่านาค ตั้งหลักแหล่งอยู่อาศัยกระจายทั่วเกาะ และมีการผสมเผ่าพันธุ์กับชาวอารยัน แล้วกลายเป็นชาวพื้นเมืองสิงหลเช่นเดียวกันกับชนเผ่านาค
- ปัจจุบัน ทั้งชาวอารยัน ชาวนาค และชาวยักษ์ ต่างก็กลมกลืนเป็นชนเผ่าเดียวกัน คือเผ่าสิงหล มีรูปแบบการดำรงชีวิตและภาษาอย่างเดียวกัน กลายเป็นชาวพื้นเมืองบนเกาะลังกาตราบเท่าจนทุกวันนี้
• ศรีลังกาประกอบด้วย 8 จังหวัด ดังนี้
1.จังหวัดกลาง มีเมืองหลวงคือ แคนดี
2.จังหวัดซาบารากามูวา มีเมืองหลวงคือ รัตนปุระ
3.จังหวัดตะวันตก มีเมืองหลวงคือ โคลัมโบ
4.จังหวัดตะวันตกเฉียงเหนือ มีเมืองหลวงคือ กุรุเนกะละ
5.จังหวัดตะวันออกเฉียงเหนือ มีเมืองหลวงคือ ตรินโคมะลี
6.จังหวัดใต้ มีเมืองหลวงคือ กอลล์
7.จังหวัดกลางตอนเหนือ มีเมืองหลวงคือ อนุราธปุระ
8.จังหวัดอูวา มีเมืองหลวงคือ บาดุลลา
• เมืองท่องเที่ยวที่สำคัญของศรีลังกา
• โคลัมโบ (Colombo) 

• เป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดของศรีลังกา เป็นเมืองหลวงและเมืองท่าสำคัญ ทำเลดีเยี่ยมเพราะอยู่กึ่งกลางเส้นทางเดินเรือผ่านมหาสมุทรอินเดีย ตัวเมืองตั้งอยู่บนฝั่งทะเลทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะ สินค้าออกที่สำคัญของเมืองนี้คือยางพารา มะพร้าว และชา
• ในอดีตก่อนโปรตุเกสจะเข้าสู่ลังกา โคลัมโบยังไม่มีความสำคัญน่าสนใจนัก ต่อเมื่อปี พ.ศ. 2108 ความสำคัญจึงเริ่มปรากฎให้เห็น เมื่อโปรตุเกสสร้างป้อมและกองบัญชาการใหญ่ขึ้นที่นี่ แม้ในสมัยฮอลันดาและอังกฤษปกครองโคลัมโบก็ถูกใช้เป็นที่ตั้งของกองบัญชาการ กระทั่งศรีลังกาได้เอกราชคืนมา รัฐบาลก็กำหนดให้โคลัมโบเป็นเมืองหลวง การประชุมแผนโคลัมโบ (Colombo Plan) จัดขึ้นที่นี่
• อนุราธปุระ (Anuradhapura) 

• ชาวสิงหลถือว่า อนุราธปุระเป็นบุญยนครของชาวพุทธ เมืองนี้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 601 ชื่อที่ตั้งครั้งแรกคือ อนุราธกรม หรือ อนุราธกรมมัน เคยมีกษัตริย์ปกครองถึง 119 องค์ และเคยเป็นเมืองหลวงร่วม 1,200 ปี (ตั้งแต่ปลายพุทธศตวรรษที่ 3 ถึง พุทธศตวรรษที่ 16) เมืองอนุราธปุระเป็นศูนย์กลางความเจริญทางด้านสถาปัตยกรรมแกะสลัก
• โปโลนนารุวะ (Polonnaruwa)

• โปโลนนารุวะเคยเป็นเมืองหลวงของศรีลังกาในอดีตกาล แต่ไม่ทราบแน่นอนว่าเริ่มเป็นตั้งแต่สมัยใด ปลายสมัยอนุราธปุระ พบว่า อนุราธปุระเป็นเมืองแปรพระราชฐานของกษัตริย์ และระหว่าง พ.ศ.1358-1374 พระเจ้าทัปปุละที่ 2 ก็ย้ายจากอนุราธปุระมาประทับที่เมืองโปโลนนารุวะนี้ หลักฐานที่แน่ชัดคือ สมัยของพระเจ้าเสนะที่ 1 พวกปาณฑยะ หรือ ปาณฑุจากอินเดีย ได้ยกทัพรุกรานลังกาอีกครั้งหนึ่ง เข้าปล้นเมืองอนุราธปุระ พระเจ้าเสนะ ต้องเสด็จไปประทับที่เมืองโปโลนนารุวะ และใช้เมืองนี้เป็นเมืองหลวงแทน
• ในรัชสมัยของพระเจ้ามหินทะที่ 5 ระหว่าง พ.ศ. 1525-1536 พวกโจฬะแห่งอินเดียตอนใต้ ได้ข้ามมารุกรานลังกาเป็นผลสำเร็จ ยุคนี้โปโลนนารุวะถูกเปลี่ยนชื่อเป็น ชนนาถปุระ เป็นยุคของฮินดูครอบงำ
• โปโลนนารุวะ รุ่งเรืองที่สุดในรัชสมัยของพระเจ้าปรากรมพาหุมาราช (พ.ศ.1696-1729) แต่ก็รุ่งเรืองอยู่เพียง 3 ชั่วอายุคนเท่านั้น พ้นจากรัชสมัยของพระเจ้าปรากรมพาหุมหราช โปโลนนารุวะ ก็เสื่อมโทรมลงตามลำดับจนในที่สุดกลายเป็นเมืองร้างจมหายอยู่กลางป่านับเป็นร้อยๆ ปี ภายหลังจึงมีการค้นพบ และกลายมาเป็นเมืองโบราณที่ล้ำค่า
• แคนดี (Kandy) 

 เมืองแคนดี ในภาษาสิงหลเรียกว่า เสนกาทาลกะ มหานุวาระ แต่เดิมไทยเรียกว่า ศิริวัฒนบรี หรือ สิงห์ขัณฑ์นคร เป็นเมืองศูนย์กลางบริหารส่วนจังหวัดภาคกลางของศรีลังกา ตั้งอยู่บนที่ราบสูงระหว่างหุบเขา เกือบจะเป็นจุดสนใจกลางของเกาะ อยู่ห่างจากเมืองโคลัมโบไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ในอดีตเคยเป็นเมืองหลวงเก่า
แคนดีมีพื้นที่ 1,940 ตารางกิโลเมตร เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ และศาสนาพุทธ มีความสำคัญคือ มีวัดพระเขี้ยวแก้วตั้งอยู่ในเมืองนี้ สินค้าสำคัญของเมืองคือ ชา และโกโก้ มีการทำนาแบบขั้นบันได จึงเป็นแหล่งเกษตรกรรมที่สำคัญแห่งหนึ่ง
• สิคีริยา (Sigiriya) 

ชื่อสิคิริยานี้ได้มาจาก พระเจ้าเทวานัมปิยติสสะ โดยพระราชทานนามว่า สีหคิรี ซึ่งแปลว่า เขาสิงห์ ในสมัยนั้นยังไม่มีป้อมปราการ และยังเป็นป่ารกทึบ ประมาณปี พ.ศ. 1020 เจ้าชายกัสสะปะ ได้ทรงทำอันตริยกรรม โดยปิตุฆาตุ ปลงพระชนม์พระเจ้าธาตุเสนพระราชบิดา เพื่อแย่งราชสมบัติ แล้วปราบดาภิเษกพระองค์เป็นกษัตริย์ พระเจ้ากัสสะปะ ทั้งนี้ เนื่องจาก พระองค์ไม่พอพระราชหฤทัยที่พระราชบิดาทรงโปรดปรานเจ้าชายโมคคัลลานะ พระอนุชาต่างมารดา หากปล่อยทิ้งไว้ พระองค์อาจเสียราชสมบัติให้เจ้าชายโมคคัลลานะได้ เพราะทรงมีพระราชมารดาเป็นสามัญชน ในขณะที่พระอนุชามีพระราชมารดาซึ่งอยู่ในตำแหน่งราชินี หลังจากได้ทรงทำปิตุฆาตแล้ว พระเจ้ากัสสะปะไม่ทรงโปรดที่จะครองราชสมบัติอยู่ ณ กรุงอนุราชปุระ แต่กลับไปสร้างเมืองใหม่อยู่บนยอดเขาสีคิริยาแทน
• นูวาระ เอลิยา (Nuwara Eliya) 


 ลักษณะเมืองเป็นแบบเมืองในประเทศอังกฤษ ทั้งที่อยู่อาศัยและสวนตกแต่งแบบอังกฤษ ตั้งอยู่ทางตอนใต้ที่ราบสูงแคนดี เป็นแหล่งชาของประเทศศรีลังกา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น